ลักษณะจิตรกรรมไทย

                           จิตรกรรมไทย เป็นภาพวาดเขียนที่มีเอกลักษณ์พิเศษตามลักษณะแบบไทย ๆ ที่ได้ทำสืบทอดกันมาจนเป็นประเพณี เน้นความรู้สึก และรูปร่างด้วยเส้น เสริมความงดงามน่าดูขึ้นด้วยสี   แสงเงา นั้นมีปรากฏอยู่บ้าง แต่ไม่ชัดเจนนัก บางภาพก็ไม่มีเอาเสียเลย จิตรกรรมไทยที่พบเห็นกันอยู่บ่อย ๆ นั้นมี 3 ลักษณะ คือ  

                          1. จิตรกรรมไทยลายเส้น ได้แก่ ลวดลายไทย หรือภาพไทยที่เกิดจากการขูด ขีด จารให้เกิดเป็นร่องรอยเป็นเส้นด้วยการนำเอาความงามของธรรมชาติมาดัดแปลงปรุงแต่งด้วยความคิดสร้างสรรค์ด้วยอุดมคติทางความงามที่เป็นลักษณะพิเศษแบบไทย  

จิตรกรรมลายเส้นจากวัดศรีชุม

ชมพูพาน พญาวานร

                          2. จิตรกรรมไทยสีเดียว บางทีเรียกกันว่า “จิตรกรรมเอกรงค์” ได้แก่ ลวดลายไทยหรือภาพไทยที่ระบายสี  หรือทำให้เกิดสีเพียงสีเดียวที่เห็นได้อย่างชัดเจน คืองานประเภทภาพลายรดน้ำซึ่งเป็นการเขียนภาพปิดด้วยทองคำเปลวบนผิวยางรัก เช่น ตู้พระธรรม เป็นต้น  

    

บานหน้าต่าง ลายรดน้ำ วัดบวรนิเวสวิหาร

                      

 ตัวอย่างกรรมวิธีการเขียนลายรดน้ำ 

                           3. จิตรกรรมหลายสี หรือ “จิตรกรรมพหุรงค์” เป็นการเขียนภาพ หรือลวดลายไทยระบายสีหลาย ๆ สี บางครั้งก็มีการปิดทองคำเปลวประกอบ มีทั้งภาพเดี่ยว ภาพลวดลาย และประกอบกันเป็นเรื่องราวประดับผนัง สมุดข่อย หรือผืนผ้า เป็นต้น  

จิตรกรรมฝาผนัง วัดบวรนิเวศวิหาร

จิตรกรรมฝาผนังวัดสามเรือน จังหวัดพิษณุโลก

                           จิตรกรรมไทยในอดีตส่วนมากเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาว หรือไข่ขาวบนผนังของสถาปัตยกรรมโยเฉพาะผนังโบสถ์ วิหาร ปราสาท ราชวัง ฯลฯ จึงมักเรียกกันว่า “จิตรกรรมฝาผนัง”  

                          นอกจากนั้นยังมีปรากฏที่ตู้พระธรรม สมุดข่อย นับว่ามีคุณค่าทั้งความงาม บันทึกประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทยสมัยต่าง ๆ วรรณคดี ฯลฯ ช่วยเสริมแต่งประติมากรรม และสถาปัตยกรรมให้งดงามเหมาะสมจรรโลงใจให้แก่ผู้พบเห็นมีความสุขได้อย่างประหลาด โดยเฉพาะเรื่องราวของพุทธประวัติ ศาสนา และวรรณคดี ช่วยกล่อมเกลาจิตใจผู้พบเห็นได้อย่างมาก ปัจจุบันนิยมใช้ภาพไทย ประดับตกแต่งอาคาร บ้านเรือนด้วยวิธีการคัดลอกจากจิตรกรรมไทยโบราณ หรือเขียนขึ้นมาใหม่ด้วยการประยุกต์ขึ้น และตามแบบคตินิยมเดิม  

โพสท์ใน ทัศนศิลป์ 1 ภาคเรียนที่ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 | ใส่ความเห็น

ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาของศิลปะไทย

                            ไม่ว่าจะเป็นชาติใด ๆ ในโลก ศิลปะการช่างต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นมาจากความจำเป็นในการดำรงชีวิตเป็นประการสำคัญ เพราะทุกคนต้องการความสะดวกสบายในความเป็นอยู่ เพื่อเป็นการสนองตอบต่อความต้องการนั้น การประดิษฐ์คิดค้นสร้างสิ่งของ เครื่องใช้สอยต่าง ๆ ตามความจำเป็นจึงได้เกิดขึ้นมา และความสวยงามก็จะเกิดตามขึ้นมากับผลผลิตนั้นเป็นเงาตามตัว เพราะมนุษย์ทุกคนเป็นผู้มีนิสัยรักสวยรักงามเป็นธรรมชาติประจำตัวอยู่แล้วทุคน ทั้งนี้เป็นไปตามขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์

                            การช่างศิลปะไทยก็คงมีกำเนิดเช่นเดียวกันกับชาติอื่น ๆ แต่รูปแบบอาจจะแตกต่างออกไปจากชาติอื่นตามความเชื่อของสังคมไทย และได้ทำสืบทอดกันมาอย่างไม่ขาดสาย มีแบบฉบับเป็นของตนเองโดยเฉพาะจนเรียกได้ว่าศิลปะแบบประเพณีไทย หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ศิลปะไทย”

                             ศิลปะไทยได้มีวิวัฒนาการจากความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ผสมกับลักษณะพิเศษประจำท้องถิ่น และในความคล้ายคลึงกันของแต่ละท้องถิ่น กลายมาเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทยไปในที่สุด

                            ศิลปะไทยด้านทัศนศิลป์นั้นเราสามารถจะพบเห็นได้โดยทั่วไป ถ้าจะแบ่งออกไปตามสถานที่ที่มีงานศิลปะไทยปรากฏอยู่ตามแหล่งที่เกิดได้ 3 แหล่ง คือ

                           1. ศิลปะพื้นบ้าน ได้แก่ งานช่างศิลปะประเภทสิ่งของเครื่องใช้ที่สร้างขึ้นใช้ในสังคมชน ตามความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่น แต่เดิมมักหวังเพียงเพื่อประโยชน์ใช้สอยก่อน ต่อมาความต้องการทางด้านความสวยงามก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้งานศิลปะพื้นบ้านมีความสวยงามน่าดู น่าใช้    น่าเป็นเจ้าของในปัจจุบันศิลปะพื้นบ้านไทยยังคงดำเนินกิจการสืบทอดต่อกันมาจนเป็นอุตสาหกรรมประจำถิ่นไปก็มี เพราะคนไทยเราได้มองเห็นคุณค่าของงานศิลปะพื้นบ้านไทย ว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของไทย

                           2. ศิลปะในราชสำนัก เป็นศิลปะที่สร้างขึ้นในรั้วในวัง เป็นไปตามความต้องการของราชสำนัก ซึ่งมักมุ่งสร้างให้มีความสวย ความมีระเบียบแบบแผนมากกว่าประโยชน์ใช้สอย

                           3. ศิลปะในวัด เป็นศิลปะไทยที่สร้างอุทิศตามความเชื่อในศาสนาต่าง ๆ มุ่งหวังเพื่อเป็นเครื่องชักจูง ดึงดูดจิตใจของ  ผู้ที่ได้พบเห็นให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใส ดังที่ปรากฏเห็นอยู่ทั่วไป

                           นอกจากนั้นศิลปะไทยยังไปมีปรากฏอยู่ในที่ต่าง ๆ ออกไปอีก เช่น สถานที่ราชการอาคารเอกชน แต่ถ้าเป็นผลงานชิ้นที่สามารถเคลื่อนที่ได้เราจะพบมากในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่รวบรวมศิลปวัตถุไทยทั้งในอดีต และปัจจุบันที่มีคุณค่า แสดงถึงความเป็นชาติมีอารยธรรม ที่เจริญรุ่งเรืองของไทยให้ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็น จิตรกรรมไทย ประติมากรรมไทย และสถาปัตยกรรมไทย

โพสท์ใน ทัศนศิลป์ 1 ภาคเรียนที่ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 | ใส่ความเห็น

รูปแบบประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่

                           การสร้างสรรค์งานประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่ในประเทศไทย ผู้ผลิตในเชิงพาณิชย์ในปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มากราย เท่าที่มีการผลิตอยู่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พอจะแบ่งผลิตภัณฑ์ออกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
                           1. ผลิตภัณฑ์ประดับฝาผนัง เป็นการขึ้นรูปแบบนูนสูง (High Relief) หรือนูนต่ำ (Bas Relief) เช่น รูปภาพประดับผนัง หน้ากาก และอื่น ๆ
                           2. ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตกแต่งทั่วไป เป็นการขึ้นรูปแบบลอยตัว เช่น รูปคน รูปสัตว์ สิ่งของต่าง ๆ
                           3. ผลิตภัณฑ์ประเภทภาชนะใส่ของ เช่น ถาด ตะกร้า กล่องใส่ของ และอื่น ๆ
                           4. ผลิตภัณฑ์ผัก ผลไม้

โพสท์ใน ประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่ | ติดป้ายกำกับ | ใส่ความเห็น

ประเภทของประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่

                          ประเภทของประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่ แบ่งตามลักษณะของประติมากรรมพิจารณา แบ่งออกได้ 3 ประเภท  ดังนี้  คือ

                         1.  แบบนูนต่ำ (Bas Relief)  หมายถึงประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่ ที่มีรูปทรงราบมีแผ่นหลังรองรับ มีลักษณะนูนขึ้นมาจากพื้น  แต่ต่ำกว่าของจริงตามส่วน เช่น รูปภาพประดับฝาผนัง ภาพไทย การ์อวยพร และสมุด เป็นต้น

                         2.  แบบนูนสูง (High Relief)  หมายถึงประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่ ที่มีรูปทรงสูงมีแผ่นหลังรองรับมีลักษณะนูนขึ้นมาจากพื้นสูงเท่าของจริงตามส่วน แต่ยังติดอยู่กับแผ่นหลังไม่ลอยตัว เช่น ตัวเรือนนาฬิกา กรอบกระจก รูปพระจันทร์ ภาพคน หน้ากาก และหัวสัตว์ต่าง ๆ ที่ใช้ติดฝาผนัง ทั้งนี้เพื่อนำมาใช้สอยและประดับตกแต่งฝาผนังในอาคาร เป็นต้น

พระพิฆเนศ ผลงาน อุเทน เกษศรี จังหวัดสุพรรณบุรี

                         3. แบบลอยตัว (Round Relief) หมายถึงประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่ ที่มีรูปทรงลอยตัวมองเห็นได้รอบด้าน เท่าของจริงตามส่วนที่ติดอยู่เฉพาะส่วนที่เป็นฐานเท่านั้น หรือไม่มีฐานก็ได้ เช่น หุ่นสัตว์ คน ผลิตภัณฑ์ ผัก-ผลไม้ โคมไฟ ภาชนะใส่ของ (ถาด ตะกร้า แจกัน กล่องใส่ของ) เก้าอี้ และม้าโยก เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อนำมาใช้สอยและวางตกแต่งภายในอาคาร

เก้าอี้รูปสัตว์จากปูนกระดาษ ผลงานนักเรียนโรงเรียนพุทธชินราชพิทยา

เก้าอี้รูปสัตว์จากเศษกระดาษ ผลงานนักเรียนโรงเรียนพุทธชินราชพิทยา

โพสท์ใน ประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่ | 2 ความเห็น

กรรมวิธีการสร้างสรรค์งานประติมากรรมกระดาษอัดหรือเปเปอร์มาเช่

กรรมวิธีการสร้างสรรค์งานประติมากรรมกระดาษอัดหรือเปเปอร์มาเช่ นั้น มีวิธีการทำอยู่ 4 กรรมวิธี

1.  การทำโครงสร้างตัวหุ่น อาจจะใช้เส้นลวดหรือวัสดุอื่น ๆ ในการสร้างโครงตัวหุ่นแล้ว นำกระดาษมาบดให้ละเอียดแล้วผสมกาวให้ทั่วถึง เสร็จแล้วนำไปแปะบนโครงตัวหุ่นที่เตรียมไว้ในลักษณะของการปั้นรูป โดยไม่ต้องแกะโครงตัวหุ่นออก เมื่อกระดาษที่แปะแห้งแล้ว ก็พร้อมที่จะนำไปตกแต่ง ลงสีให้สวยงามตามที่ต้องการ

2.  การแปะหุ่น

การแปะหุ่น คือการแปะกระดาษด้านนอกหุ่น นำกระดาษที่ชุบกาวแล้วมาแปะลงไปบนตัวหุ่นหลาย ๆ ชั้น จนหนาพอสมควรตามรูปร่างของหุ่นที่สร้างขึ้น เรียกว่า การแปะหุ่น ก็จะได้ผิวนอกของกระดาษที่แปะตามรูปร่างของตัวหุ่น เมื่อกระดาษที่แปะแห้งแล้ว จึงแกะออกจากหุ่นโดยใช้มีดคม ๆ กรีดฝ่าออกแล้วจึงประกบชิ้นส่วนของหุ่นกระดาษเข้าตามเดิมโดยใช้กระดาษทาแป้งเปียกผนึกเชื่อมรอยที่กรีดให้เรียบร้อย จึงนำไปตกแต่ง ลงสีให้สวยงาม นำวิธีการแปะหุ่นนี้มักจะพบเห็นในการทำหัวโขน  การทำหน้ากากต่าง ๆ

3.  การหล่อกระดาษหรือการอัดกระดาษ

การหล่อกระดาษหรือการอัดกระดาษ เป็นวิธีการแปะกระดาษด้านในแม่พิมพ์หรือโม (Mold)แล้วมาแปะข้างในของแบบพิมพ์หลาย ๆ ชั้นจนหนาพอสมควร เมื่อกระดาษที่แปะแห้งแล้ว จึงถอดออกจากแม่พิมพ์ เรียกว่า การหล่อกระดาษ  ก็จะได้ผิวนอกของกระดาษที่แปะตามแบบพิมพ์แล้ว แม่พิมพ์ที่ใช้ก็เป็นแม่พิมพ์ยางพารา จึงนำไปตกแต่งลงสี ตามขั้นตอนให้สวยงามต่อไป

4.  การปั้นเยื่อกระดาษ

การปั้นเยื่อกระดาษ เป็นการหมักกระดาษกับการให้กระดาษยุ่ย จากนั้นนำกาวลาเท็กซ์คลุกเคล้าให้เข้ากัน สามารถนำไปอัดในบล็อกหรือแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้

โพสท์ใน ประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่ | ใส่ความเห็น

ประวัติความเป็นมาประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่

                           ประติมากรรมกระดาษอัด เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งที่อาศัยคุณสมบัติความคล่องตัวของวัสดุอุปกรณ์ประเภทกระดาษมาทำผลิตภัณฑ์ชิ้นงาขนาดต่าง ๆ ได้ง่าย เชื่อกันว่า จีนเป็นชนชาติแรกที่เริ่มทำงานประเภทนี้ มานับเป็นศตวรรษแล้ว ต่อมาชนชาติเปอร์เซีย และญี่ปุ่น ก็ได้ทำหัตถกรรมกระดาษอัดโดยเฉพาะหน้ากากสำหรับใช้ร่วมเฉลิมฉลองในงานเทศกาลต่าง ๆ

                           ศตวรรษที่ 17 เป็นช่วงเวลาที่ประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่ได้แพร่หลายนักมากในประเทศแถบทวีปยุโรป โดยเริ่มจากประเทฝรั่งเศส ได้บัญญัติศัพท์ประติมากรรมกระดาษอัดไว้ว่า ปาเปียร์ มาเช่ (Papier-Mâché) ซึ่งมาจากคำว่า ปาเปียร์ (Papier) หมายถึง กระดาษ กับ มาเช่ (Mâché) หมายถึง การบดเคี้ยว อัด หรือย่อยลาย

                           สำหรับประเทศไทยการสร้างสรรค์งานประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่ เสนอ นิลเดช (2534: 41-42) กล่าวว่า มีมาแต่เมื่อไรไม่มีหลักฐานแน่นอน แต่ก็อาจจะสันนิษฐานได้ว่า  “มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี” ซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาตอนพระเจ้าปราสาททองลบศักราชจากปีขาลเป็นปีกุน ได้โปรดฯให้มีการเล่นดึกดำบรรพ์ แต่การเล่นดึกดำบรรพ์เป็นเรื่องของการสวมหัวโขน ใช้คนแสดง  และยังปรากฏในบันทึกการเดินทางของบาทหลวงตาชาร์ดที่เข้ามาในประเทศไทย ในสมัยพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. 2228  ได้บันทึกถึงการเผาศพพระมอญว่า “ก่อนเผามีการเล่นสวมหน้ากาก การเล่นสวมหน้ากากนี้ก็คือ การเล่นโขนหน้าไฟนั่นเอง”  แต่บาทหลวงตาชาร์ดคงไม่เข้าใจเรื่องการเล่นโขนจึงบันทึกว่า เป็นการแสดงเหมือน  ผีเข้า การแสดงโขนนักแสดงโขนสมัยก่อนใช้วิธีเขียนหน้าเองเป็นภาพยนตร์หน้ายักษ์ หน้าลิง ฯลฯ ซึ่งไม่ใช้ของง่ายนัก และทำให้เสียเวลาในการเตรียมการแสดงมาก เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ จึงเกิดความคิดที่จะหาวิธีทำเป็นหน้ากากแทน โดยเลียนแบบประติมากรรมตามโบราณสถานซึ่งประดิษฐ์เป็นเรื่องราวเป็นรูปเดี่ยว ๆ และในวรรณคดีต่าง ๆ เช่น ยักษ์ ลิง พระ นาง สัตว์หิมพานต์ ฯลฯ ครั้นมาประกอบกับ การแสดงโขน ก็เลยนำลักษณะแห่งภาพนั้นมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำเป็นหน้ากาก  อาจกล่าวได้ว่า ในขบวนหน้ากากที่ใช้สวมหัวกันแล้ว จะไม่มีของใครที่มีความงามสมบูรณ์แบบเท่ากับหัวโขนของไทย ถึงแม้ว่าการทำหน้ากากสวมหน้าในทำนองหัวโขน เช่น อินเดีย ลังกา พม่า อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น จีน ลาว เขมร

                            การทำหน้ากากสวมหัวที่เราเรียกว่า “หัวโขน” นั้นมีกรรมวิธีที่ใช้ในการประดิษฐ์ด้วยวิธีการแบบหน้าอัด คือใช้กระดาษสา หรือกระดาษว่าว ชุบน้ำ ทาแป้งปะไปบนหุ่นไม้แกะหนาพอ จึงตากแดดแล้วทาด้วยน้ำรัก ภายในส่วนหน้ากากก็ทาสีปิดทองไปตามสีลักษณะของหัวโขนแต่ละตัว ลักษณะเช่นนี้เป็นการทำหัวโขน หรือประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่ของไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้บันทึกไว้ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก เล่ม 2 ดูแห่ โดย ทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา “ขบวนแห่นาคเป็นขบวนยาวเดินมาตามถนน มีกระตั้วแทงเสือ แตรวง เถิดเทิงกลองยาวผู้หญิงบ้างผู้ชายบ้างผัดหน้าขาว ๆ สวมหัวล้าน หัวแกละ แต่งตัวสีฉูดฉาด         รำเฉิบ ๆ หน้าขบวน”

                         ประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่ที่สร้างขึ้นตามความเชื่อ ขนบประเพณี และการละเล่น โดยได้สืบทอดกันมาในแต่ละท้องถิ่น คือ การทำหัวหุ่น การแกะหน้ากาก (กระตั้วแทงเสือ)  การทำหัวโขน การทำหัวโต

                           ส่วนประเภทของใช้ทั่ว ๆ ไปนั้น ได้แก่ หมูออมสินทาสีแดง ซึ่งผลิตกันมาในประเทศไทยมากกว่า 60 ปีแล้ว  (ประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือหลัง ปี พศ.2485)  มีการประดิษฐ์เป็นรูปสัตว์นานาชนิด และมีจำหน่ายไม่  กี่แห่ง  และ วุฒิ วัฒนสิน (2537 : 38) กล่าว่าใน ปี พ.ศ. 2499   มิชชั่นนารีอเมริกัน ได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในเมืองไทยได้นำหัตถกรรมกระดาษอัดมาเผยแพร่ในเมืองไทยในรูปแบบของตุ๊กตา คน สัตว์ต่าง ๆ

                            การสร้างสรรค์ประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่ ของไทย ก็ได้ค่อย ๆ พัฒนาทั้งทางด้านรูปแบบ และเทคนิคการผลิตเรื่อยมา และมีการผลิตในเชิงพาณิชย์ทั้งสนองตอบตลาดภายใน และตลาดต่างประเทศ มีการออกแบบใหม่ ๆ ที่ดูทันสมัย และเหมือนจริงมากยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมีทั้งประเภทของใช้ เช่น ถาดผลไม้ ภาชนะใส่ของต่าง ๆ ประเภทตกแต่ง เช่น รูปสัตว์นานาชนิด หน้ากาก รูปภาพต่าง ๆ เป็นต้น การให้สีมีความประณีตมากยิ่งขึ้นดูเป็นของมีค่า

เอกสารอ้างอิง

                          กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม.  วัตถุดิบและกรรมวิธีการผลิตหัตถกรรมกระดาษอัด. พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, 2535.

                           วุฒิ วัฒนสิน.  “หัตถกรรมกระดาษอัด” วารสารวิทยบริการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 8 (3) ; 38 กันยายน-ธันวาคม, 2537.

                           เสนอ นิลเดช.  มรดกแผ่นดิน.  กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ,  2534.

โพสท์ใน ประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่ | ติดป้ายกำกับ | ใส่ความเห็น

ความหมายของประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่

ประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่ หมายถึงกระบวนการสร้างสรรค์งานประติมากรรมกระดาษอัดที่ใช้กลวิธีในการหล่อรูปจากการฉีกเศษกระดาษเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือเป็นแถบ ๆ แล้วนำมาทากาวปิดทับกันหลาย ๆ ชั้นบนหุ่น หรือนำเศษกระดาษที่แช่น้ำจนเปื่อยยุ่ย แล้วนำไปตำหรือปั้นให้ละเอียดและนวดกับแป้งเปียกหรือน้ำกาวนำมาปั้นหรือกดในแม่พิมพ์ โดยผ่านกระบวนการออกแบบและการผลิตหุ่นต้นแบบด้วยวิธีการขึ้นรูปด้วยดินเหนียวหรือดินน้ำมัน หรือปูนหรือแกะโฟม หรือแกะปูนปลาสเตอร์ หรือแกะเทียน หรืออาจขึ้นรูปจากกระดาษแข็งแล้วถอดแบบจากหุ่นต้นแบบเป็นแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ หรือแม่พิมพ์ยางพารา หรือแม่พิมพ์ไฟเบอร์กลาส แล้วนำกระดาษทากาว และปะกระดาษบนหุ่น หรืออัดกระดาษลงแม่พิมพ์ จึงทำการผ่ากระดาษออกจากหุ่น หรือถอดกะดาษออกจากแม่พิมพ์ แล้วจึงนำหุ่นกระดาษทากาวประกอบกันให้เป็นรูปทรงตามแบบ เมื่อแห้งแล้วมักจะตกแต่งด้วยสี หรือเขียนลวดลายด้วยสีต่าง ๆ อาจใช้วัสดุอื่นมาประกอบ และอาจเคลือบด้วยสารเคลือบเงา นำไปใช้ประโยชน์ ทำเป็นของใช้ทั่วไป ของประดับตกแต่ง และของที่ระลึกได้อย่างกว้างขวาง
กรรมวิธีนี้นิยมใช้ในการทำเครื่องตกแต่งและเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น หน้ากาก ของเล่น ลวดลายปั้นบนเครื่องเรือน หัวโขน

โพสท์ใน ประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่ | ติดป้ายกำกับ | 1 ความเห็น

วัสดุอุปกรณ์ในการทำหัตถกรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่

                   การจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์

1.  เตรียมแป้งเปียก โดยนำเอาแป้งข้าวเจ้า มาผสมกับน้ำในอัตราส่วนเท่ากัน คือ แป้ง 1 ส่วน ต่อน้ำ 1 ส่วน นำไปตั้งไฟ กวนจนแป้งมีลักษณะเหนียวตักใส่ภาชนะ เพื่อนำไปใช้ในขั้นตอนการแปะกระดาษ

2.  เตรียมต้นแบบสำหรับทำแบบพิมพ์ให้พร้อม โดยปูนพลาสเตอร์ หรือยางพารา

3.  เตรียมกระดาษที่ใช้ในขั้นตอนแปะกระดาษ เพื่อทำผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย

3.1  กระดาษหนังสือพิมพ์ หรือกระดาษสมุดโทรศัพท์ (เยลโลเพจเจจ)

3.2  กระดาษปรู๊ฟ

3.3  กระดาษแข็ง

3.4  กระดาษสา

4.  เตรียมกระดาษที่ใช้ในขั้นตอนการปั้นขึ้นรูป หรือกดแบบพิมพ์ เพื่อทำผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย

4.1  กระดาษหนังสือพิมพ์ หรือกระดาษสมุดโทรศัพท์ (เยลโลเพจเจจ)

4.2  กระดาษปรู๊ฟ

4.3  กระดาษแข็ง

4.4  กล่องและลังกระดาษ

วัตถุดิบที่สำคัญในการทำหัตถกรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่ คือ

1.  กระดาษชนิดที่ใช้แล้ว เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ หรือสมุดโทรศัพท์เยลโล่เพจเจจ กระดาษโรเนียว  และกระดาษกล่องหรือกระดาษลัง  เป็นต้น

2.  ดินน้ำมัน ปูนพลาสเตอร์ ปูนซีเมนต์

3.  น้ำยาพาราเหลว

4.  กาวลาเท็กซ์  แป้งเปียก

5.  จุลสี

6.  สีน้ำ  สีน้ำมัน  แลกเกอร์  วาสลีมครีม  น้ำมันพืช  วาณิช

7.  แปรงทาสี  พู่กัน  กระดาษทราย

8.  กรรไกร  มีดแต่งโครง

โพสท์ใน ประติมากรรมกระดาษอัด หรือเปเปอร์มาเช่ | 5 ความเห็น